11 ต.ค. 2554

ท่านพูดว่าสร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก



" การสร้างคนนั้นเป็นอัธยาศัยที่ท่านสนใจ

 ภิกษุสามเณรรูปใดมีสติปัญญาสามารถ 

เที่ยวนำฝากสำนักโน้นสำนักนี้ให้ได้รับการศึกษาชั้นดีต่อไป

 และเพื่อรับเอาขนบธรรมเนียมของสำนักนั้นมาปฏิบัติ

พอเหมาะสม เป็นการให้สังคมแก่ศิษย์เป็นอย่างดี 

วางแนวทางให้มีการติดต่อกัน ให้มีสัมพันธ์ต่อกัน 

ให้แสดงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

แม้ในคณะธรรมยุตท่านก็ส่งเสริมให้ได้บรรพชาอุปสมบท 

คือศิษย์สมัครใจก็อนุญาต ไม่มีความรังเกียจใครผู้ใด 

ท่านพูดว่า เรามองกันในแง่ดีจะมีสุขใจ เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว "

(พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ต่อ)
                แม้ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ไม่มีใครเรียกชื่อนั้น เรียกหลวงพ่อเสมอมา บางคนก็ไม่ทราบว่าท่านมีสมณศักดิ์ เพราะภิกษุสามเณรในวัดและคนวัดก็เรียก "หลวงพ่อ" เสียหมด บางคนเรียกว่า "เจ้าคุณพ่อ"
                นอกจากท่านจะสร้างคนให้เป็นคนแล้ว เสนาสนะก็ได้จัดทำรุดหน้าไป แต่เพราะท่านฝักใฝ่ในด้านกรรมฐานเสียมาก การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ก็ไม่ใคร่สนใจมากนัก ท่านพูดว่าสร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่ความสำคัญต้องสร้างคนก่อน

                ๑. กุฏิ ๒ แถว สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน สร้างคู่กับโรงเรียน
                ๒. พ.ศ.๒๔๙๓ สร้างโรงเรียนปริยัติเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์)
                ๓. สร้างศาลาโรงฉันพอเหมาะแก่พระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ฉันภัตตาหารเช้า เพล เป็นเครื่องไม้มุงสังกะสี พื้นลาดปูนซีเมนต์        ภายในยกเป็นอาสนสงฆ์ มีช่องเดินในระหว่างได้ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (สี่แสนบาทเศษ)
                ๔. สร้างกุฏิเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นตึก ๒ ชั้น พื้นฝ้าเพดานไม้สักทาสีขัดชันเล็ก มีห้องน้ำห้องส้วมและไฟฟ้า เป็นกุฏิทันสมัย ราคาก่อสร้างประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (แปดแสนบาทเศษ)
                ๕. ก่อนมรณภาพสัก ๔-๖ เดือน ได้สร้างกุฏิอีกหลังหนึ่งสูง ๓ ชั้น เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกัน มีเครื่องประกอบพร้อม ราคาก่อสร้าง ๓๒๗,๘๔๓.๓๐ บาท (สามแสนสองหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยสี่สิบสามบาทสามสิบสตางค์)
สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่มีงบประมาณ กุฏิบางหลังไม่มีแปลน ค่าก่อสร้างทวีขึ้นแล้วแต่ช่างจะเสนอ แต่เมื่อเสร็จแล้วก็ได้ของประณีตไว้สำหรับวัด หลวงพ่อก็ไม่ว่าไร สร้างกุฏิเสร็จแล้วหลวงพ่อสดได้สั่งให้พระรูปอื่นอยู่ต่อไป ตัวท่านเองหาได้อยู่อาศัยไม่ เช่นกุฏิหลังใหม่ให้พระศรีวิสุทธิโมลี และพระครูปลัดณรงค์เข้าอยู่อาศัย ใคร ๆ จะอาราธนาให้ขึ้นกุฏิใหม่ก็ไม่ฟังเสียง ท่านเพิ่งไปอยู่เมื่อก่อนมรณภาพสัก ๓-๔ เดือน ที่จำไปนั้นเนื่องด้วยที่อยู่เดิมมีการก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ใกล้ชิด ท่านไม่ได้ความสงบ จึงจำยอมมาพักที่กุฏิใหม่และมรณภาพที่กุฏินี้
                การสร้างคนนั้นเป็นอัธยาศัยที่ท่านสนใจ ภิกษุสามเณรรูปใดมีสติปัญญาสามารถ เที่ยวนำฝากสำนักโน้นสำนักนี้ให้ได้รับการศึกษาชั้นดีต่อไป และเพื่อรับเอาขนบธรรมเนียมของสำนักนั้นมาปฏิบัติพอเหมาะสม เป็นการให้สังคมแก่ศิษย์เป็นอย่างดี วางแนวทางให้มีการติดต่อกัน ให้มีสัมพันธ์ต่อกัน ให้แสดงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ในคณะธรรมยุตท่านก็ส่งเสริมให้ได้บรรพชาอุปสมบท คือศิษย์สมัครใจก็อนุญาต ไม่มีความรังเกียจใครผู้ใด ท่านพูดว่า เรามองกันในแง่ดีจะมีสุขใจ เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว สำนักที่หลวงพ่อสนใจเป็นพิเศษคือวัดเบญจมบพิตร จะทำอะไรก็ต้องอ้างสมเด็จสังฆนายกก่อน ต้องการอาราธนาในการกุศลเสมอ งานเล็กน้อยก็ต้องต้านทานไว้ บางคราวยอมสงบให้ด้วยความไม่พอใจก็มีเหมือนกัน และสมเด็จสังฆนายกได้เมตตาแก่หลวงพ่อสดวัดปากน้ำอย่างดีเสมอมา
ความเจริญในด้านสมณศักดิ์
                ยุคก่อน หลวงพ่อสดไม่ได้รับยกย่องมากนัก ท่านมาอยู่วัดปากน้ำยุคสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ ต่อมา พระราชสุธี (พร้อม ป.๖) วัดสุทัศน์เทพวราราม ลาสิกขาแล้วต่อมาพระสุธรรมมุนี วัดพระเชตุพน ในสามยุคนี้ พระครูสมุห์สด ก็คงได้สมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานเท่านั้น
                  เมื่อคณะสงฆ์ปกครองโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอตกมาอยู่ในปกครองของเจ้าคุณพระวิเชียรกวี (ฉัตร ป.๕) วัดหนัง อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี หลวงพ่อก็ยังคงเป็นพระครูตามเดิม ที่เป็นดังนั้นเพราะการปกครองของหลวงพ่ออยู่ในวงแคบ คือเป็นเพียงเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตำแหน่งเดียว
                อันความจริงหลวงพ่อสดก็ไม่ได้กระตือรือร้นหรือเที่ยววิ่งเต้นและก็ไม่สนใจในเรื่องเช่นนั้น ท่านสนใจอย่างเดียว คือต้องการให้ภิกษุสามเณรมีปัจจัย ๔ บริบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็พอใจ
                เรื่องที่คณะวัดปากน้ำเดือดร้อนใจอยู่อย่างเดียวในสมัยโน้น คือคณะวัดปากน้ำเห็นต้องกันว่า หลวงพ่อที่เคารพของตนมีคนนับถือมาก กุลบุตรสมัครใจมาบวชปีละหลาย ๆ สิบคน ทั้งหลวงพ่อก็มีภูมิพอจะอบรมให้เกิดความรู้ในการปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนกว่าวัดทั้งหลาย แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ ท่านครองวัดมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ มาได้ตำแหน่งอุปัชฌายะเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ นับเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ จึงได้รับ อันความจริงวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงย่อมมีสิทธิพิเศษในการได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ แม้ในยุคใหม่ก็มีกฎหมายเปิดโอกาสถวายเพื่อเกียรติพระอารามหลวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น