29 ก.ย. 2554

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำแสดงได้แจ้งชัด และชี้ทางปฏิบัติให้โดยตรง

 วันครูวิชชาธรรมกาย
" การที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มิได้มาตัวเปล่า 
ต่างมีบุญและบาปที่ทำไว้ในอดีตติดมาทุกคน 
ต่างกันแต่มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ช้าเราก็ต้องตายดอก 
อย่ามาแบกเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย 
ลาภสักการะอันหมุนลงได้เป็นราคาเงินนั้น 
เป็นสมบัตินอกกายตายแล้วเอาไปไม่ได้ดอก 
มันเป็นของใช้สอยประจำโลก 
เราตายแล้วก็ตกเป็นของคนอื่น เขาอาศัยใช้ต่อไป 
ใครจะว่าเป็นของใครไม่ได้ทั้งนั้น 
โลกมนุษย์เป็นแหล่งกลางสำหรับอาศัยสร้างบุญ สร้างบาป " 

 เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องยาก ผู้ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้ว ยากที่จะนำมาแสดงให้แจ่มแจ้ง ให้เป็นผลปฏิบัติได้ แต่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำแสดงได้แจ้งชัด และชี้ทางปฏิบัติให้โดยตรง จึงสมควรเถิดไว้ในฐานันดรพระธรรมกถึกชั้นเยี่ยม ซึ่งข้าพเจ้าขอกราบแสดงความเคารพอย่างสูงต่อท่านไว้ในที่นี้ด้วย

            ที่ข้าพเจ้าเอาเรื่องของวัดมาพูดโดยยืดยาวเช่นนี้ ความมุ่งหมายก็เพื่อบรรเทาบาปให้แก่ผู้แพร่ข่าวอกุศล เพราะการกล่าวเท็จใส่ไคล้ผู้มีศีลเช่นนี้เป็นบาปหนักหนา เพื่อว่าเขารู้ตัวจะยับยั้งกรรมอันชั่วนี้เสียได้ ข้าพเจ้าก็จะพลอยอนุโมทนา แล้วจะมีส่วนได้บุญอันนับเนื่องในปัตตานุโมทนามัยด้วย
            ท่านทั้งหลาย การที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มิได้มาตัวเปล่า ต่างมีบุญและบาปที่ทำไว้ในอดีตติดมาทุกคน ต่างกันแต่มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ช้าเราก็ต้องตายดอก อย่ามาแบกเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย ลาภสักการะอันหมุนลงได้เป็นราคาเงินนั้น เป็นสมบัตินอกกายตายแล้วเอาไปไม่ได้ดอก มันเป็นของใช้สอยประจำโลก เราตายแล้วก็ตกเป็นของคนอื่น เขาอาศัยใช้ต่อไป ใครจะว่าเป็นของใครไม่ได้ทั้งนั้น โลกมนุษย์เป็นแหล่งกลางสำหรับอาศัยสร้างบุญ สร้างบาป โลกนรก โลกสวรรค์ เป็นเพียงโลกที่คอยรับรองผลบุญ - บาป เท่านั้น เราได้มาเกิดอยู่ในโลกอันเป็นแหล่งกลางเช่นนี้แล้ว นับว่าเราได้มีโอกาสที่จะเพิ่มบุญผ่อนบาปให้เบาลง ให้เบาลงกว่าที่เราแบกมาจากอดีตนั้นเถิด อย่าเติมเข้าไปอีกเลย ไหน ๆ เราก็ต้องตายแน่ อย่ามาหอบเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย
            อนึ่ง การอ่านหนังสือเรื่อง "ธรรมกาย" นี้ ถ้าได้รู้แนวปฏิบัติ บ้างแล้วจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งดี เพื่อประโยชน์ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงเขียนบันทึกแนวสอน วิธีทำสมาธิ โดยย่อของท่านไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้ ถ้าต้องการรู้ละเอียดอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งท่านเคยแจกกับผู้ไปเรียนสมาธิกับท่าน หนังสือเล่มนั้นเป็นแบบเจริญสมาธิโดยตรง (คือที่ข้าพเจ้าใช้คำว่าตามแบบ)
            แต่ว่าการเรียนสมาธินั้น ถ้าจะเอากันให้ได้ผลจริงจังแล้วต้องมีอาจารย์ จะทำสุ่มไปไม่ใคร่ได้ผล แม้เราได้อ่านตำรับตำราในทางนี้ เช่นวิสุทธิมรรค เป็นต้น ถ้าไม่มีอาจารย์แนะนำวิธีปฏิบัติอีกชั้นหนึ่งแล้ว ก็ยากที่จะปฏิบัติให้ได้ผล เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจารย์จะพึงแนะนำอีกมากหลาย
            สมาธิ เป็นยอดคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ว่ายอดนี้หมายความว่าเป็นหลักสำคัญยิ่งในจำพวกคุณธรรม ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้น ศีลเป็นส่วนประกอบ คือเป็นเพียงเหตุที่จะให้ดำเนินไปสู่สมาธิ ส่วนปัญญานั้นเป็นผลของสมาธิ จุดมุ่งหมายสำคัญจึงอยู่ที่สมาธิตัวกลาง ซึ่งต้องทำให้เกิดมีขึ้น ดังบาลีในวิสุทธิมรรคยืนยันว่า นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน (นัตถิ ฌานัง อะปัญญัสสะ นัตถิ ปัญญา อะฌายิโน) ซึ่งแปลความว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน และอานิสงส์ของสมาธินั้นก็มีอยู่ว่า บุคคลผู้ได้สมาธิแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ:-
            ๑. ความสุขในปัจจุบัน
            ๒. วิปัสสนาปัญญา
            ๓. ฌาน
            ๔. ภพอันวิเศษ
            ๕. นิโรธ
            ฉะนั้น สมาธิจึงเป็นเรื่องที่เราควรสนใจ
            เท่าที่ข้าพเจ้าได้ฟังมา วิธีปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีผู้กล่าวออกความเห็นกันไปหลายอย่างต่าง ๆ กัน พวกหนึ่งว่า เป็นฌานโลกีย์ พวกหนึ่งว่า ติดรูป บางพวกว่า ติดนรกสวรรค์ แต่อีกพวกหนึ่งว่า ท่านเลยเถิดไปถึงนิพพาน ซึ่งมองไม่เห็น
            ข้าพเจ้าเคยนำวาทะเหล่านี้ไปสนทนากับผู้ปฏิบัติในสำนักหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เขาตอบขบขันเหมือนกัน เขาว่าที่ว่าติดรูปนั้นดีนะ ให้มันรู้ว่าติดรูปเถอะจะได้มีโอกาสแกะรูปออก แต่ข้อสำคัญว่าเราไม่รู้ว่าติดรูปนี่ซี เมื่อไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่รู้จักรูป เมื่อเราไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่ได้แกะ เมื่อเราไม่แกะมันจะหลุดได้อย่างไร เหมือนของโสโครกติดหลังเสื้อที่เราสวมอยู่ เมื่อเราไม่รู้ว่ามันติดเราก็ไม่พยายามเอาออก แล้วมันจะไปไหน ฟังดูก็แยบคายดี
            แต่สำหรับความเห็นข้าพเจ้านั้น เห็นควรรวมวาทะที่ว่าติดรูปกับวาทะที่ว่าเป็นฌานโลกีย์ รวมวินิจฉัยเสียเป็นข้อเดียว เพราะตามที่ว่านี้คงหมายถึงรูปฌาน เมื่อเช่นนั้นทางที่จะปลดเปลื้องความสงสัยของเจ้าของวาทะเหล่านี้ก็ง่ายขึ้น สมเด็จพระบรมศาสดาก่อนที่จะได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ผ่านรูปฌาน อรูปฌานหรือเปล่า ข้อนี้จะต้องรับกันว่าผ่าน ก็เมื่อเช่นนี้ ใครจะปฏิเสธได้ หรือว่าโลกิยะฌานนั้นจะไม่เป็นอุปการะแก่พระองค์ในการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ความข้อนี้ข้าพเจ้าเคยนำไปสนทนาวิสาสะกับพระเถระบางรูป ซึ่งฝักใฝ่ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ท่านได้กล่าวอุปมาให้ฟังว่าการข้ามแม่น้ำหรือมหาสมุทร ถ้าไม่ใช้เรือหรือเครื่องบินเป็นพาหนะแล้ว มันจะข้ามไปได้อย่างไร ในที่สุด ท่านยืนยันว่าฌานโลกีย์นั้นแหละยังพระองค์ให้ข้ามถึงซึ่งฝั่งโลกุตร เมื่อนำเอาบาลีข้าต้นมาประกอบการวินิจฉัย ความข้อนี้จะแจ่มใสยิ่งขึ้น เพราะคำว่า "นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน" นั้นเป็นหลักอยู่ ซึ่งแปลได้ความอยู่ชัด ๆ ว่า ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ดังนี้ เราจะไปยกวาทะ ติฌานโลกีย์อย่างไรกัน
            อันวาทะที่ว่าติดนรกสวรรค์นั้น ข้อนี้น่าเห็นใจผู้สงสัย เธอคงจะไม่ได้มีโอกาสไปฟังการแสดงธรรมของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำเสียเลย เธอคงจะไปฟังหางเสียงของบางคนที่ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียดเข้าแล้ว เพราะการแสดงธรรมนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษก็ต้องอ้างเรื่องนรกสวรรค์ ท่านมีอะไรพิสูจน์แล้วหรือว่านรกสวรรค์ไม่มี ท่านมีปัญญาพอแล้วหรือว่านรกสวรรค์นั้นไม่มีผู้รู้ผู้เห็น ท่านได้เคยสนใจอ่านวิสุทธิมรรคบ้างหรือเปล่า ท่านเคยสนใจในคำว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ดีแล้วหรือว่ากินความเพียงไร หรือตัวท่านมีภูมิปัญญาเหนือพระคันถรจนาจารย์เหล่านั้น ขอจงใคร่ครวญเอาเอง
            ส่วนวาทะที่ว่าเลยเถิดไปถึงนิพพานนั้น ข้าพเจ้าจะขอพูดแต่โดยย่อ เพราะถ้าจะพูดกันกว้างขวางแล้ว จะเกินหน้ากระดาษหนังสือนี้ จะต้องเป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหาก
            ท่านคงจะได้อ่านคำถวายวิสัชนาของพระเถรานุเถระ ๑๘ ความเห็น ที่พิมพ์แจกกันแพร่หลายอยู่แล้ว ในหนังสือนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปุจฉาถึงเรื่อง "นิพพาน" ว่าคืออะไร พระเถรานุเถระ ๑๘ รูป ถวายความเห็นด้วยโวหารต่าง ๆ กัน แต่ในที่สุดมีรูปหนึ่งถวายวิสัชนาหลักแหลม โดยกล่าวว่า แปลคำว่านิพพานนั้นไม่ยาก ข้อยากอยู่ที่ ทำให้แจ้ง ท่านพูดทิ้งไว้แค่นี้เอง ขอให้เรามาคิดกันดูทีหรือ ทำให้แจ้ง หมายความว่ากระไร นี่ก็จะเห็นได้แล้วว่า เรื่องนิพพานนั้นเป็นของยากหรือง่าย คนซึ่งมีปัญญาอย่างสามัญจะพูดได้ไหม เราก็ต้องรู้ตัวดีว่าไม่สามารถ เพราะเป็นวิสัยของมรรคญาณ และการบำเพ็ญให้บรรลุมรรคญาณนั้นทำกันอย่างไรเรารู้ไหม ถ้าเราไม่รู้ จะแปลว่าคนอื่นก็ไม่รู้เหมือนกับเรากระนั้นหรือ สิ่งที่เราก็ไม่รู้ สมควรหรือที่เราจะยกวาทะกล่าวถึงผู้อื่น ในที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดเราควรปฏิบัติตัวของเราเองให้รุดหน้าไปตามแนวปฏิบัติ ดีกว่าจะมามัววิจารณ์ผู้อื่น อย่าลืมคำว่า "สนฺทฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ" (สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์คะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ที่เป็นประโยชน์คะ

    ตอบลบ